Sunday, October 23, 2011

ยกเลิกการตกชั้น ?




© AP Images
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวลือที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเมืองผู้ดีไม่น้อย เพราะเจ้าของทีมชาวต่างชาติในพรีเมียร์ลีกหวังจะให้มีการยกเลิกระบบการตกชั้นจากลีกสูงสุด
ริชาร์ด บีแวน ซีอีโอของสมาคมผู้จัดการทีมในลีกอังกฤษ ยอมรับว่าการหลั่งไหลเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรต่างๆ ของนักลงทุนต่างชาติในพรีเมียร์ลีก อาจจะนำมาสู่การสิ้นสุดระบบการตกชั้นและเลื่อนชั้นที่ใช้มานานถึง 123 ปี
วงการลูกหนังเมืองผู้ดีใช้ระบบนี้ในการแข่งขันลีกต่างๆ มาตั้งแต่ปี 1888 ก่อนที่จะกลายเป็นมาตรฐานสากลของลีกฟุตบอลต่างๆ เกือบทั่วโลก และไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันทำให้เกมน่าติดตามขึ้น เพราะมันไม่ได้หมายถึงแค่การลุ้นแชมป์หรือพื้นที่ยุโรปเท่านั้น แต่การลุ้นหนีตกชั้นในช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูกาลก็มักจะเป็นไคลแม็กซ์เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เวลานี้ 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก มีเจ้าของทีมที่เป็นชาวต่างชาติถึง 10 ทีม และลือกันว่าหลายเจ้าเริ่มๆ มีการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนมาใช้สไตล์อเมริกันอย่างเช่นเอ็นบีเอ หรือ เอ็นเอฟแอล ที่ไม่มีการตกชั้นแทนแล้ว
การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้แฟนบอลลีกอังกฤษส่วนใหญ่หวั่นใจว่าจะเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้คงไม่มีใครคาดคิดว่าแผนการแบบนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นด้วยซ้ำ
"ตอนนี้มันมีหลายสโมสรที่เจ้าของทีมเป็นคนต่างชาติได้เริ่มคุยกันถึงเรื่องการหลีกเลี่ยงการเลื่อนชั้นและตกชั้นในพรีเมียร์ลีก" บีแวน กล่าว "ถ้าเรามีเจ้าของทีมต่างชาติอีก 4-5 คน เรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้"
อเมริกันสไตล์เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นในลีกสูงสุดของเมืองผู้ดี หลังจากที่สโมสรยักษ์ใหญ่อย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (ตระกูลเกลเซอร์), ลิเวอร์พูล (จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี่) และ อาร์เซน่อล (สแตน โครนเก้) ต่างก็ถูกควบคุมโดยบริษัทซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา
ขณะที่ Deloitte บริษัทด้านการเงินชั้นนำของโลก ได้ทำนายว่าการที่มีเจ้าของทีมชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐฯ มีแต่จะพยายามหาทางโกยเงินจากค่าลิขสิทธิการถ่ายทอดสดให้มากขึ้น (ซึ่งจุดนี้แผนของการ "หงส์แดง" ที่ต้องการขายลิขสิทธิแยกจากพรีเมียร์ลีก โดนด่าจมหูมาแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน)
ตรงกันข้าม ความเสี่ยงของการตกชั้นได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับเหล่านักลงทุน เพราะอย่างที่รู้กันดีกว่าผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างพรีเมียร์ลีกกับแชมเปี้ยนชิพ ลีก ต่างกันราวฟ้ากับเหว (เงินรายได้จากทุกทางอาจจะลดลงถึง 10 ล้านปอนด์ (ราว 500 ล้านบาท และไม่แน่ว่าจะต้องใช้เวลากี่ปีกว่าจะกลับมาเล่นในลีกสูงสุดได้อีกครั้ง)
"ถ้าคุณลองดูกีฬาต่างๆ ทั่วโลก ก็จะเห็นได้ว่าเจ้าของทีมต่างก็พยายามที่จะหาวิธีที่จะลงทุนแล้วได้กำไรกันทั้งนั้น คุณจะพบว่าส่วนใหญ่พวกเขาจะชอบไอเดียเรื่องแฟรนไชส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกอเมริกันที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีอยู่เป็นจำนวนมากที่มองหาความเป็นไปได้ที่จะขยายแฟรนไชส์ของตัวเอง"
"นั่นหมายความว่ามันจะไม่มีการเลื่อนชั้นหรือตกชั้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจะไม่ใช่เรื่องที่โชคดีสำหรับฟุตบอลอังกฤษ" บีแวน กล่าว
ความเห็นดังกล่าวของบีแวน สอดคล้องกับเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กุนซือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่แม้มีจะมีเจ้าของทีมเป็นชาวอเมริกันเหมือนกัน แต่เขาส่ายหัวคัดค้านกับไอเดียนี้อย่างเต็มที่
"ถ้าคุณลองมองดูแชมเปี้ยนชิพ ลีกในเวลานี้ มันมีอย่างน้อย 8 ทีมที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน คุณจะบอกพวกเขายังไงว่าคุณจะไม่มีวันได้เล่นในพรีเมียร์ลีกอย่างงั้นเหรอ ? ผมคิดว่ามันเป็นการฆ่าตัวตายของลีกอื่นชัดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแชมเปี้ยนชิพ"
"ที่เดียวที่คุณจะทำเงินได้และได้ตระหนักถึงความทะเยอทะยานของคุณคือพรีเมียร์ลีก และคุณไม่สามารถที่จะเอาสิ่งเหล่านั้นออกไปได้จากสโมสรอย่างน็อตติงแฮม ฟอเรสต์, ลีดส์ ยูไนเต็ด, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ทีมที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยก่อตั้งฟุตบอลดิวิชั่น 1 ตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว" เฟอร์กี้ ที่คุม "ปีศาจแดง" มาถึง 25 ปี กล่าว






ความเห็นที่ตรงไปตรงมาของเฟอร์กี้น่าจะโดนใจแฟนบอลเต็มๆ เพราะสาเหตุที่เกมลูกหนังเมืองผู้ดีได้รับความนิยมสูงสุดไปทั่วโลก ก็เพราะความมี Passion ของแต่ละสโมสร ไม่ใช่สนแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม ยอดโค้ชชาวสกอตต์ ไม่ใช่คนที่จะมีหน้าที่ตัดสินว่าจะให้มีหรือไม่มีกฎยกเลิกการตกชั้น เพราะตามกฎของพรีเมียร์ลีกระบุเอาไว้ว่าหากต้องการมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น ต้องได้เสียงสนับสนุนจากเจ้าของสโมสรอย่างน้อย 2 ใน 3 ของทั้งหมด หรือ 14 จาก 20 ทีมนั่นเอง
ไม่รู้ว่าอนาคตแผนการนี้จะได้รับไฟเขียวจากบิ๊กบอสของสมาคมฟุตบอลลีกอังกฤษหรือเปล่า แต่ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าหากมีการยกเลิกระบบการเลื่อนชั้น-ตกชั้นจริง เสน่ห์ของพรีเมียร์ลีกคงจะหายไปอีกพะเรอเกวียน




ข้อมูลจาก : MSN ฟุตบอล วันที่ : 10/18/2011 11:27:09 AM

No comments:

Post a Comment